ประโยชน์ของตำลึง

ตำลึง

ช่วยย่อย แก้คัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coccinia grandis

              (L.) Voigt

วงศ์ : Cucurbitaceae

 

          ตำลึงเป็นไม้เมืองร้อน ลักษณะต้นเป็นเถาเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่นๆ ในบ้านเราพบได้ทั่วไป นิยมใช้ใบอ่อนกินเป็นผักสด หรือประกอบเป็นอาหาร เรียกว่าสามารถกินเป็นยาโดยที่ไม่ต้องทำกรรมวิธีเข้าตัวยาแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถใช้กินเพื่อบำรุงร่างกาย และให้คุณค่าทางด้านสมุนไพรในเรื่องของการรักษาโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังเป็นยาช่วยย่อยขนานเอกขนานหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการย่อยคาร์โบไฮเดรตเพราะเป็นพืชที่ก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยมาก จึงสามารถใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กแรกเกิดได้อีกทั้งยังเป็นยาช่วยย่อย แก้อาการท้องอืดในเด็กได้ดีทีเดียว วิธีง่ายๆ เพียงแค่ใช้ยอดตำลึงต้มกับข้าวผสมน้ำซุป แล้วปั่นจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จะเสริมด้วยเนื้อแอปเปิลเล็กน้อยเพื่อเพิ่มวิตามินและสารอาหารด้วยก็ได้หากถามว่าตำลึงมีดีในเรื่องสมุนไพรมากแค่ไหน คงไม่สามารถตอบได้เสียทีเดียวว่ามีสรรพคุณเลิศหรู แต่สามารถใช้เป็นสมุนไพรบำรุงร่างกาย ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างดีทีเดียว คือไม่ได้กินเพื่อเป็นยา แต่กินเพื่อเป็นสมุนไพรบำรุงร่างกายนั่นเอง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีสรรพคุณในเรื่องการรักษาเยียวยาเสียทีเดียว เพราะตำลึงก็มีดีอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน

 

วิธีเข้าตัวยา

           ๑. เป็นยาช่วยย่อย : ท่านที่ประสบปัญหาเรื่องโรคกระเพาะหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร จำเป็นต้องหาสมุนไพรที่ช่วยแบ่งเบาภาระของกระเพาะ ใบตำลึงและเถาตำลึงมีเอนไซม์อะไมเลส

อยู่มาก จะช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดีทีเดียว วิธีง่ายๆ ใช้ใบแก่ตำลึงประมาณ ๑ กำมือ กับเถาตำลึงเด็ดเป็นท่อนขนาดเท่านิ้วก้อย ๑ กำมือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว แล้วใช้ผ้าขาวบางคั้นเอาแต่น้ำผสมน้ำอุ่น ๑ ถ้วยกาแฟ กินก่อนอาหารประมาณ ๕ - ๑๐ นาที เพื่อเตรียมน้ำย่อย หรือจะใช้ใบแก่ลวกพอสุก กินเป็นผักเคียงพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อเลยก็ได้

           ๒. แก้คัน แก้สัตว์มีพิษกัด หรือแมลงต่อย : ใช้ใบตำลึงแก๑๐ - ๒๐ ใบ ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ ทาบริเวณที่เป็นปัญหาบ่อยๆจะช่วยให้อาการที่เป็นทุเลา

 

สรรพคุณเด่นของตำลึง

          แกงจืดตำลึงใส่หมูสับ อาหารธรรมดาที่จัดอยู่ในเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารง่ายๆ ที่ให้ทั้งคุณค่าทางโภชนาการและคุณค่าทางด้านสมุนไพรอย่างครบครัน แต่โดยมากจะถูกลดคุณค่าลงไปมาก เพราะส่วนใหญ่มักจะใช้เพียงแค่ใบอ่อนของตำลึงเท่านั้น เพราะใบแก่ค่อนข้างขมและแข็ง อีกทั้งเถาตำลึงที่ถูกทิ้งไปอย่างไม่ใยดี กับเมนูง่ายๆ ที่มีเคล็ดลับปรับแต่งเพิ่มคุณค่าทางด้านสมุนไพรให้มากเป็นเท่าทวีคูณจากที่คุณเคยใช้แต่ใบอ่อนของตำลึง ที่นี้เวลาจะทำต้มจืดตำลึง คุณควรจะใส่ใบแก่ลงไปด้วย แต่ใช่ว่าคุณจะต้องกินใบแก่และก้านแข็งๆของตำลึงเพราะเราจะเค้นเอาเฉพาะตัวยาออกมาเท่านั้น นั่นคือเมื่อคุณเด็ดเอาใบอ่อนตำลึงออกจนหมดแล้ว ให้คุณแยกเอาใบแก่ และก้านตำลึงไว้ต่างหาก ใบแก่บีบพอ ก้านตำลึงเด็ดเป็นท่อนขนาดนิ้วก้อยบุบพอแตก ลวกด้วยน้ำร้อนก่อน ๑ น้ำ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง เพื่อใส่ลงไปในหม้อต้มจืด เพียงเท่านี้จากเดิมที่คุณค่าทางด้านสมุนไพรที่เหลืออยู่ในใบอ่อนไม่มากนัก ก็จะมีคุณค่าทางด้านสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นเพราะได้รับการทดแทนจากใบแก่และก้านตำลึง ใบแก่และก้านตำลึงจะมีเอนไซม์อะไมเลสอยู่มาก จึงเป็นยาช่วยย่อยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีสารที่ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน และคนที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เช่น คนอ้วน หรือผู้สูงอายุ

 

 

Reference: 

1.หนังสือสุดยอด108สมุนไพรไทย

2.https://prayod.com/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%87-ivy-gourd/

 

Visitors: 5,733,929