ประโยชน์ของใบพลู

ใบพลู 

เพื่อสุขภาพที่ดีภายในช่องปาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper betle Linn.

วงศ์ : Piperaceae

            ท่านที่มีปู่ย่าตายายเป็นคนต่างจังหวัดคงจะคุ้นเคยกับใบพลูอยู่บ้าง เพราะคงจะเห็นจากเวลาที่ปู่ย่าตายายกินกับหมาก พลูเป็นไม้เถาเลื้อย แตกรากตามข้อ เป็นตัวยึดเกาะกับต้นไม้อื่น ใบเดี่ยวสีเขียวเข้มรูปหัวใจ มีกลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน โดยมากนิยมปลูกให้เลื้อยพันอยู่กับต้นทองหลาง เพราะใบทั้งสองชนิดนี้พอใช้แทนกันได้ พลูจัดเป็นสมุนไพรที่ช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากและลำคอได้เป็นอย่างดี เพราะมีสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้ออยู่หลายชนิด เช่น ซาวิคอล ยูจีนอล อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอีกนานาชนิดพลูเป็นสมุนไพรที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแก้ลมพิษ อีกทั้งยังเป็นยาสมุนไพรที่ใช้สำหรับดับกลิ่นปาก ช่วยฆ่าเชื้อในช่องปาก และทำให้ฟันแข็งแรง เพราะในใบพลูมีฟลูออไรด์อยู่มากอีกทั้งสารซาวิคอลยังออกฤทธิ์เป็นยาชาอ่อนๆ ช่วยแก้อาการลมพิษหรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้ดีทีเดียว

 

วิธีเข้าตัวยา

            ๑. ยาอมบ้วนปาก : ใบพลูแก่จัด ๕-๑๐ ใบ โขลกกับน้ำปูนใส ๑ ช้อนแกง กรองเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำ ๑ ถ้วยกาแฟ ใช้อมบ้วนปากเป็นประจำ จะช่วยดับกลิ่นปาก ช่วยฆ่าเชื้อในลำคอ ทำให้ฟันแข็งแรง

            ๒. ยาแก้ลมพิษ และแมลงสัตว์กัดต่อย : ใบพลูแก่ ๕ - ๑๐ ใบ โขลกจนละเอียดกับเหล้าขาว ๑ ช้อนแกง กรองเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เกิดลมพิษหรือผื่นคัน หากถูกสัตว์มีพิษกัด หรือแมลงต่อย โขลกใบพลูให้ละเอียดแล้วพอกเอาไว้จนกว่าจะทุเลาหมั่นเปลี่ยนยาพอกทุกชั่วโมง

            ๓. ยาภายใน : ใบพลูแก่จัด ๑๐ - ๑๕ ใบ ขยำพอซ้ำ ลำต้นยาวประมาณ ๑ คืบ ๓ - ๕ ท่อน บุบพอแตก ทั้งสองส่วนต้มกับน้ำ ๓ ถ้วย กาแฟ เคี่ยวจนเหลือ ๑ ถ้วย ดื่มอุ่นๆ เป็นยาใช้ภายใน สรรพคุณครอบจักรวาล ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ ขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำขับประจำเดือน ขับเลือดเสีย กระจายเลือด กระจายลม แก้ริดสีดวงแก้ไข้มาลาเรีย ขับนิ่ว

 

สรรพคุณเด่นของใบพลู

            คุณอาจจะคิดว่าพลูเป็นไม้ที่ไม่ค่อยมีคนนิยมปลูกเท่าไรนักแต่จริงๆ แล้วพลูจัดเป็นสมุนไพรส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาททีเดียว คู่ค้าที่สำคัญคืออินเดียและปากีสถาน เพราะนิยมนำใบพลูไปใช้ทำน้ำมันหอมระเหย พลูเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีบทบาทมานาน แต่ก่อนจะใช้เป็นสมุนไพรสมานกระดูก เวลาที่กระดูกหักจะเอาใบพลูมาตำพอกบริเวณที่กระดูกหักโดยใช้ผ้าพันทับเอาไว้อีกทีเพื่อกันไม่ให้น้ำมันระเหยไปจนหมด จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่าน้ำมันที่สกัดได้จากใบพลูมีสรรพคุณในการฆ่าพยาธิไส้เดือน ที่สร้างปัญหามากมายต่อระบบลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบของลำไส้ การติดเชื้อในช่องท้อง หรืออาการปวดท้อง เป็นต้น

 

Reference:

1.หนังสือสุยอด108สมุนไพร

2.https://www.kroobannok.com/59552

 

Visitors: 5,733,927